บทบาทการชุมนุม ของ ทรงกลด ชื่นชูผล

หลังจากออกราชการแล้ว อีกหลายปีต่อมาได้รู้จักกับนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และอดีตเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นแนวร่วมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จึงได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมกับกลุ่ม พธม. ซึ่งขณะนั้นกำลังชุมนุม 193 วัน อยู่ในกลางปี พ.ศ. 2551 โดยทำหน้าที่ฝึกฝนการ์ดของ พธม. เพื่อการรักษาความปลอดภัย และตอบโต้ทางวาจากับทาง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่อยู่ฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก่อนที่ พล.ต.ขัตติยะ จะถูกยิงเสียชีวิตในช่วงการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 ร.อ.ทรงกลด เป็นผู้ทำนายว่า พล.ต.ขัตติยะ จะต้องเสียชีวิตไม่นานหลังจากนี้ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น[3]

ในวันที่ 24 มิถุนายน-25 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ทรงกลด ได้สร้างความฮือฮาด้วยการสวมหน้ากากกาย ฟอกส์ ยืนอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพียงคนเดียว เพื่อประท้วงรัฐบาลตั้งแต่เช้าจนถึงมืด เป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน แม้บางช่วงจะมีฝนตก และได้เข้าไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบปัญหาเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการทุจริตในนโยบายรับจำนำข้าว อันเป็นนโยบายของทางรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย[1] [4]

จากนั้นในเช้าวันที่ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ทรงกลดกับกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ รักษาแผ่นดิน ที่นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ได้ไปชุมนุมที่หน้ากระทรวงกลาโหม เพื่อมิให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าทำงานได้เป็นวันแรกตั้งแต่รับโปรดเกล้า ฯ ซึ่งทางตัว ทรงกลดได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวและนำไปยังสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง (สน.พระราชวัง) อันเป็นพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมกับตั้งข้อหา 2 ข้อหา คือ 1. กีดขวางการจราจร 2. ขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ แต่ทาง ร.อ.ทรงกลดไม่ยอมรับข้อหา และได้อยู่ที่ สน. ตลอดจนถึงบ่ายวันที่ 14 กรกฎาคม โดยไม่ได้เป็นการควบคุมตัวโดยตำรวจ ซึ่งทาง ทรงกลดได้ให้เหตุผลของการที่อยู่ที่ สน. ว่าต้องการจะพบกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์[5] [6] [2]

ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม ปีเดียวกัน ทรงกลดได้พยายามที่จะบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เข้ายังไปพื้นที่ตัวอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณาพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) และเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดการประชุมผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งตรงกับวันเดียวกันกับที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เดินเท้าจากแยกอุรุพงษ์ไปยังรัฐสภาด้วย[7] ซึ่งก็ได้ถูกจับเนื่องจากฝ่าฝืนพระราชบัญญัติความมั่นคงในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) แต่ต่อมา ก็ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ประกันตัว ในวงเงิน 20,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามก่อการชุมนุมวุ่นวายใด ๆ อีก[8]

ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันได้ร่วมกับ กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ก่อตั้งกองทัพนิรนามขึ้น[9] โดยเป็นกลุ่มเคลื่อนที่เร็วในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ในระหว่างการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในช่วงปี พ.ศ. 2556–2557[10]